บริษัท ชับบ์สามัคคีประกันภัย จำกัด (มหาชน) ร่วมกับสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. และกรมการขนส่งทางบก สร้างจิตสำนึกเรื่องความปลอดภัยของผู้ใช้รถใช้ถนนผ่านโครงการ “รณรงค์คาดเข็มขัดนิรภัยแถวหลัง” เพื่อสนับสนุนมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบก ซึ่งกำหนดให้ผู้โดยสารรถยนต์ทุกคนต้องคาดเข็มขัดนิรภัย รวมถึงผู้โดยสารที่เบาะหลัง ตลอดจนเพิ่มความปลอดภัยให้แก่ผู้โดยสารรถยนต์และช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ โดยเริ่มประชาสัมพันธ์ผ่านผู้ประกอบการรถแท็กซี่
นางสาวนิตยา พิริยะธรรมวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ชับบ์สามัคคีประกันภัย กล่าวว่า “ในฐานะที่ชับบ์ดำเนินงานด้านธุรกิจประกันภัยและให้ความสำคัญต่อการมีส่วนร่วมในความรับผิดชอบต่อสังคมมาโดยตลอด บริษัทฯ เล็งเห็นความสำคัญของการเพิ่มความปลอดภัยของผู้ใช้รถใช้ถนน โดยปัจจุบัน เราจะเห็นว่าพฤติกรรมของผู้โดยสารส่วนใหญ่จะคาดเข็มขัดนิรภัยแถวหน้าจนเป็นนิสัยแล้ว ในขณะที่ผู้โดยสารที่เบาะหลังจำนวนมากยังไม่คุ้นชินกับการคาดเข็มขัดนิรภัยและเป็นสาเหตุที่นำไปสู่ความเสียหายทั้งด้านทรัพย์สินและชีวิตเมื่อเกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์ ทั้งนี้ คนส่วนใหญ่มักคิดว่าไม่มีความจำเป็นต้องคาดเข็มขัดนิรภัยแถวหลัง เพราะคงไม่เกิดเหตุการณ์ที่ร้ายแรง ทั้งที่แท้จริงแล้ว มีตัวอย่างมากมายของความสูญเสียและความเสียหายที่เกิดจากการชะล่าใจดังกล่าว”
“ชับบ์ประกันภัยจึงมีความประสงค์ที่จะเป็นส่วนหนึ่งในสังคมในการผลักดันให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้โดยสารรถยนต์ โดยดำเนินการรณรงค์ปลุกจิตสำนึกผ่านสื่อประชาสัมพันธ์รูปแบบต่างๆ อาทิ สติ๊กเกอร์ ป้ายติดกระจกรถยนต์ โปสเตอร์ สปอตวิทยุ โดยเริ่มรณรงค์ประชาสัมพันธ์ร่วมกับผู้ประกอบการรถแท็กซี่ด้วยการติดสื่อประชาสัมพันธ์ทั้งในตัวรถและนอกรถ เพื่อสื่อสารกับประชาชนทั่วไปให้เกิดการรับรู้และนำมาซึ่งการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการคาดเข็มขัดนิรภัยแถวหลัง ชับบ์มีความภูมิใจที่ได้ร่วมริเริ่มโครงการนี้ และทางบริษัทฯ มีความประสงค์ที่จะทำกิจกรรมนี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการรับรู้และตระหนักถึงอันตรายจากการไม่คาดเข็มขัดนิรภัย ซึ่งเราคาดว่า ในที่สุดจะสามารถทำให้ผู้ใช้รถยนต์ ทั้งรถส่วนตัวและรถโดยสารสาธารณะเกิดความเคยชินจนติดเป็นนิสัย เหมือนกับการคาดเข็มขัดนิรภัยแถวหน้า เพื่อความปลอดภัยของตัวผู้โดยสารเอง” นางสาวนิตยากล่าว
นายกมล บูรณพงศ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวว่า “กรมการขนส่งทางบกซึ่งรับผิดชอบด้านความปลอดภัยของตัวรถและอุปกรณ์ส่วนควบเพื่อความปลอดภัยได้กำหนดให้รถส่วนบุคคลและรถโดยสารสาธารณะตามกฎหมายต้องติดตั้งเข็มขัดนิรภัย ส่วนผู้โดยสาร หากมีผู้โดยสารไม่คาดเข็มขัดนิรภัย ห้ามนำรถออกจากสถานีขนส่งหรือจุดจอด เพื่อเพิ่มความมั่นใจในความปลอดภัยเมื่อเดินทางด้วยรถโดยสารสาธารณะ โดยเฉพาะช่วงเทศกาลหรือวันหยุดยาว สำหรับบทลงโทษตามกฎหมายจราจรทางบกฯ หากผู้ขับหรือผู้โดยสารไม่คาดเข็มขัดนิรภัยในรถยนต์ส่วนบุคคล รถกระบะ รถแท็กซี่ จะโดนปรับคนละไม่เกิน 500 บาท แต่หากเป็นรถโดยสารขนาดใหญ่ รถตู้โดยสาร รถทัวร์ รถบรรทุกสินค้า (ตามกฎหมายขนส่งฯ) คนขับถูกปรับไม่เกิน 500 บาท ส่วนผู้โดยสารถูกปรับไม่เกิน 5,000 บาท ตามมาตรา 113”
นายวิเชษฐ์ พิชัยรัตน์ กรรมการบริหารแผนคณะที่ 1 สำนักงานกองทุนสนับสนนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส. สำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ และภาคีเครือข่ายได้ให้ความสำคัญกับการป้องกันแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนมาอย่างต่อเนื่อง เพราะปัญหาอุบัติเหตุทางถนนได้คร่าชีวิตคนไทยสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก สาเหตุมาจากการดื่มแล้วขับ การขับเร็ว ไม่สวมหมวกนิรภัย รวมถึงการไม่คาดเข็มขัดนิรภัย ที่ได้ส่งผลกระทบทำให้เกิดความรุนแรง บาดเจ็บ และเสียชีวิตสูง โดยที่ผ่านมา หน่วยงานภาครัฐและทุกภาคส่วนได้มีการกำหนดมาตรการความปลอดภัย เกี่ยวกับการคาดเข็มขัดนิรภัยอย่างเข้มเข้มและต่อเนื่อง แต่คนส่วนใหญ่ที่เป็นผู้โดยสารยังละเลยและให้ความสำคัญกับเรื่องนี้น้อย เพราะเข้าใจว่าการนั่งโดยสารรถ ถ้านั่งเบาะหลังน่าจะปลอดภัยกว่านั่งเบาะหน้า หรือถ้าหากเป็นการใช้บริการรถแท็กซี่หรือรถโดยสารสาธารณะ ก็คิดว่านั่งไม่นานก็ลง ซึ่งตามทฤษฎีแล้ว รถที่วิ่งด้วยความเร็ว 60 กม/ชม. หากเกิดอุบัติเหตุจะทำให้คนที่นั่งบนรถพุ่งไปข้างหน้าและเมื่อมีการปะทะคนหรือวัตถุในตัวรถ แรงปะทะจะเทียบเท่ากับการตกตึก 5 ชั้น ส่งผลให้คนที่ไม่คาดเข็มขัดทะลุกระจก ชนเก้าอี้หรือคนที่นั่งอยู่ตอนหน้า ทำให้ได้รับบาดเจ็บรุนแรงได้ นอกจากนี้ ยังพบว่ามีผู้ขับรถยนต์และผู้โดยสารส่วนใหญ่ที่รอดตายเพราะคาดเข็มขัดนิรภัย เพราะเข็มขัดนิรภัยสามารถลดความรุนแรงถึงเสียชีวิตได้ถึง 34-40 % เมื่อเทียบกับการไม่คาดเข็มขัดนิรภัย จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลกที่มีการสำรวจและจัดอันดับการคาดเข็มขัดนิรภัยใน 182 ประเทศทั่วโลก ปรากฏว่า 1 ใน 4 ของประเทศที่สำรวจอยู่ในเกณฑ์ดี ส่วนประเทศไทยได้คะแนน 6 จากคะแนนเต็ม 10 ถือว่ายังไม่เข้มข้นเท่าที่ควร”
นายวิเชษฐ์ กล่าวต่อว่า “มูลนิธิไทยโรดส์ ได้สํารวจอัตราการคาดเข็มขัดนิรภัยของผู้โดยสารนั่งเบาะตอนหลังในรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกินเจ็ดคน (TAXI - METER) ปี 2560 เพื่อสะท้อนสถานการณ์และพฤติกรรมการคาดเข็มขัดนิรภัยของผู้โดยสารนั่งเบาะตอนหลังในรถแท็กซี่ในปัจจุบัน ทั้งนี้ ได้กําหนดสำรวจเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร จํานวน 8 จุดสํารวจ ประกอบด้วย เขตชั้นใน 4 จุด ได้แก่ เขตราชเทวี เขตบางกอกน้อย เขตคลองเตย และเขตคลองสาน รวมถึงเขตชั้นกลาง 4 จุด ได้แก่ เขตบางนา เขตพระโขนง เขตภาษีเจริญ และเขตราษฎร์บูรณะ โดยได้ดําเนินการสํารวจเก็บข้อมูล เฉพาะวันธรรมดา (จันทร์ ถึง ศุกร์) ช่วงเวลา 07.00 - 17.00 น. ในช่วงต้นเดือนสิงหาคม 2560 ที่ผ่านมา อาศัยการเก็บข้อมูลการสํารวจด้วยกล้องถ่ายรูป เพื่อบันทึกภาพผู้โดยสารนั่งเบาะตอนหลังในรถแท็กซี่ขณะขับเคลื่อนบนท้องถนน และกระจายเก็บกลุ่มตัวอย่างรถแท็กซี่รวมทั้งสิ้น 3,260 คัน จํานวนผู้โดยสารนั่งเบาะตอนหลัง จำนวน 3,717 คน พบว่ามีอัตราการคาดเข็มขัดนิรภัยของผู้โดยสารนั่งเบาะตอนหลังในรถแท็กซี่ จำแนกเป็น เพศชาย คาดเข็มขัดนิรภัย 4 % ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย 96 % ส่วนเพศหญิง คาดเข็มขัดนิรภัย 3% ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย 97 % โดยสรุปภาพรวมแล้วพบผู้โดยสารนั่งเบาะหลังที่นั่งรถแท็กซี่คาดเข็มขัดนิรภัยเพียง 3 % และไม่คาดเข็มขัดนิรภัย สูงถึง 97 %”
ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการรณรงค์คาดเข็มขัดนิรภัยแถวหลังได้ที่ https://www.chubb.com/th-roadsafety